ททท. ผนึก 4 พันธมิตร ขยายช่องทางซื้อขายคาร์บอนเครดิต

08 สิงหาคม 2567
ททท. ผนึก 4 พันธมิตร ขยายช่องทางซื้อขายคาร์บอนเครดิต
ททท. ผนึก 4 หน่วยงานใหญ่ ขยายช่องทางซื้อขายคาร์บอนเครดิต ชี้ เฟสแรก เริ่มต้นใช้มาตรฐาน TVER ของประเทศไทย ใช้ในกลุ่มท่องเที่ยว-การจัดงานอีเวนต์-อุตสาหกรรมไมซ์-ภาคบริการ ดันให้ไทยเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero

วันที่ 8 สิงหาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), หอการค้าไทย, กระทรวงมหาดไทย, สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (สสปน.) และกลุ่มเซ็นทรัล ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ภายใต้โครงการ Platform ซื้อขายคาร์บอนเครดิต หรือ Carbon Neutrality 4 ALL เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์

การลงนามในบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero และส่งเสริมให้ภาครัฐ เอกชน และบุคคลทั่วไป ได้ร่วมกันผลักดันการลดโลกร้อน ผ่านแพลตฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิต CCXT (Carbon Credit Exchange of Thailand)

การลงนามในบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero และส่งเสริมให้ภาครัฐ เอกชน และบุคคลทั่วไป ได้ร่วมกันผลักดันการลดโลกร้อน ผ่านแพลตฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิต CCXT (Carbon Credit Exchange of Thailand)

โดยในเฟสแรก เริ่มต้นจากการชดเชยคาร์บอนเครดิตจากมาตรฐาน TVER ของประเทศไทย ใช้ในกลุ่มท่องเที่ยว การจัดงานอีเวนต์ อุตสาหกรรมไมซ์ และภาคบริการต่าง ๆ ผ่านแอปพลิเคชั่น CERO ที่เป็นแอปพลิเคชั่นแรกบนแพลตฟอร์มนี้ โดยกระทรวงมหาดไทยนำคาร์บอนเครดิตชุมชน จาก “โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน” เข้าสู่แพลตฟอร์มนี้

สำหรับฝั่งผู้ซื้อคาร์บอนเครดิตมาจากการประชาสัมพันธ์จากหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและเครือข่าย ที่ได้เชิญชวนให้สมาชิกจำนวนกว่า 140,000 ราย เข้าร่วมใช้แพลตฟอร์มเพื่อสร้างแบบอย่างที่ดีต่อการดำเนินธุรกิจภาคการค้ายุคใหม่

นอกจากนี้ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ยังส่งเสริมให้เครือข่ายภาคการท่องเที่ยว โรงแรม ศูนย์การจัดประชุมสัมมนา งานแสดงสินค้า ร่วมใช้แพลตฟอร์ม และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ยังประชาสัมพันธ์ให้กับเครือข่ายผู้ประกอบการภาคท่องเที่ยว ร่วมคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในแพลตฟอร์มของ ททท.

และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขยายผลนำข้อมูลดังกล่าวมาเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชั่นภายใต้โครงการ และกลุ่มเซ็นทรัล ร่วมเป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์มดูแลการบริหารจัดการระบบแพลตฟอร์มให้มีประสิทธิภาพ และสะดวกต่อการใช้งาน รวมถึง ยังมีการประชาสัมพันธ์ผ่านคู่ค้า และเครือข่ายของกลุ่มเซ็นทรัลอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ประกอบด้วยโครงสร้างหลัก 5 ส่วน ได้แก่

(1) เจ้าของคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรอง TVER จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก โดยเจ้าของคาร์บอนเครดิตสามารถสมัครสมาชิกเข้าใช้แพลตฟอร์มและใช้เป็นช่องทางการขายได้

(2) แพลตฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิต CCXT ทำหน้าที่เป็นผู้รับคาร์บอนเครดิตจากเจ้าของ มาลงขายในแพลตฟอร์ม ในหน่วยตันคาร์บอนไดออกไซด์ฯ

(3) แอปพลิเคชั่น หรือ Digital Channel ที่เชื่อมต่อกับแพลตฟอร์ม CCXT เพื่อรับคาร์บอนเครดิตมาชดเชยกิจกรรม โดยมีฟีเจอร์ต่าง ๆ เช่น การชดเชยคาร์บอนเครดิตในการจัดอีเวนต์ หรือการชดเชยการเข้าพักในโรงแรม โดยใช้หน่วยกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ฯ

(4) หน่วยงานรับรองคาร์บอนเครดิต ทำหน้าที่รับรองว่าคาร์บอนเครดิตที่ได้ร่วมบริจาค หรือชดเชยเป็นคาร์บอนเครดิตที่อยู่ในระบบทะเบียนของ TVER จริง เพื่อให้ผู้ชดเชยมั่นใจได้ว่ามีการชดเชยแล้วตามระเบียบขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก

และ (5) ผู้ซื้อคาร์บอนเครดิต ทั้งรายใหญ่และรายย่อย ในภาคการค้า การบริการ การท่องเที่ยวและไมซ์ และภาคการเกษตร การดำเนินโครงการนี้ มีระยะเวลาดำเนินการร่วมกัน 5 ปี

ทั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทั้ง 5 หน่วยงาน ได้ร่วมกันผลักดันให้เกิดเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ และเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย Net Zero ต่อไป
แหล่งที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.